วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556


จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ศูนย์รวมแหล่งอารยธรรมขอมโบราณบนดินแดนแห่งลำนำและตำนาน” ในพื้นที่เขตอีสานตอนล่าง ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และยังคงร่องรอยของมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นเอกของโลก ซึ่งมีความงดงามในด้านสถาปัตยกรรมอันล้ำค่า สร้างจินตนาการย้อนรอยกลับไปอดีตในสมัยพันกว่าปีได้เป็นอย่างดี สถนที่แห่งนี้คือ “ปราสาทหินพนมรุ้ง”        
ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นปราสาทหินทราย ที่มีการวางผังอย่างมีระเบียบ โดยสร้างเทวาลัยบนเนินเขา ตั้งอยู่ที่บ้านตาเป็ก ตำบลตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ อยู่ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ ประมาณ 77 กิโลเมตร เป็นศาสนสถานที่สำคัญสมัยลพบุรี ที่มีอายุประมาณพันปี ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง 1,320 ฟุต จากระดับน้ำทะเล กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติแล้ว
นักโบราณคดีเชื่อว่า “มหาเทวาลัยพนมรุ้ง” สร้างขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 15 – 18 โดยมหาฤาษีนเรนทราทิตย์ ซึ่งเป็นญาติของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แห่งขอม ต่อมาเกิดการแก่งแย่งเพื่อสืบราชสันตติวงศ์ นเรนทราทิตย์ได้เสด็จหนีออกไปบำเพ็ญพรตภาวนา เพราะเบื่อการแย่งชิงอำนาจ และได้เดินทางไปพบถ้ำบนเขาพนมรุ้งในที่สุด
นเรนทราทิตย์ เป็นผู้ที่เคร่งในศาสนาฮินดู และจากการเสด็จออกไปบำเพ็ญพรตภาวนาในป่า จึงมาพบภูเขาพนมรุ้ง และได้เลือกเป็นที่บำเพ็ญบุญในถ้ำเงียบสงบ  ทั้งได้สร้างปราสาทหินทรายถวายแด่พระอิศวร ตามตำนานเล่าว่า หลังจากนเรนทราทิตย์บวชเป็นฤาษีเข้าไปบำเพ็ญภาวนาโดยปิดปากถ้ำไว้ ด้วยความเพียรจึงได้ตบะญาณทำลายปากถ้ำออกมาพบกับแสงสว่างภายนอก เป็นมหาฤาษี ณ ปราสาทพนมรุ้ง แห่งนี้
นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล นายอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์  กล่าวว่า ประเพณีการเดินขึ้นเขาพนมรุ้ง เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2481 โดยท่านเจ้าคุณโอภาสธรรมญาณ วัดท่าประสิทธิ์ จังหวัดสุรินทร์ ได้เดินทางไปวิปัสสนากรรมฐานบนเขาพนมรุ้ง ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 5 ชาวบ้านจึงจัดให้มีกิจกรรมสำคัญ การทำบุญปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลอง และถือเอาวันนั้นเป็นวันฉลองประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง เป็นครั้งแรก
จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ร่วมกับกรมศิลปากร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้จัดงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง เพื่อสืบทอดประเพณีแต่อดีต โดยนำข้อสันนิษฐานต่างๆ มาเรียงร้อยเรื่องราว จำลองภาพขบวนเสด็จของกษัตริย์ในอดีต พร้อมจัดเตรียมเครื่องบูชา มาร่วมขบวนด้วย
สำหรับขบวนเทพพาหนะทั้ง 10 ทิศ ประกอบด้วย หงส์ สัตว์พาหนะของพระพรหม ทางทิศเบื้องบน ช้าง สัตว์พาหนะของพระอินทร์ ทางทิศตะวันออก , วัว สัตว์พาหนะของพระอิศวร ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ , แรด สัตว์พาหนะของพระอัคนี ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ , คชสีห์ สัตว์พาหนะของพระกุเวร ทางทิศเหนือ , นกยูง สัตว์พาหนะของพระขันธกุมาร ทางทิศใต้ , นาค สัตว์พาหนะของพระวิรุณ ทางทิศตะวันตก , ม้า สัตว์พาหนะของพระพาย ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ , รากษส สัตว์พาหนะของพระนิรฤติ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และ กระบือ สัตว์พาหนะของพระยาเทพพิทักษ์ ทางทิศเบื้องล่าง โดยตลอดเส้นทางจะมีหญิงสาวยืนโปรยปรายดอกไม้ เพื่อต้อนรับขบวนเสด็จทั้งสองข้างทางด้วย
ด้านนายอภินันท์ จันทรังษี ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า จังหวัดบุรีรัมย์ได้ประกาศให้ปราสาทพนมรุ้ง เป็นอุทยานประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมา ทั้งนี้ เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ให้คงอยู่ ทางจังหวัดจึงได้กำหนดจัดงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งในปีเดียวกันกับการเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางมาเที่ยวชมโบราณสถานแห่งนี้
นายอภินันท์ กล่าวต่อว่า การจัดงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งในปี 2556 นี้ จะจัดให้มีความยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งทางจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมศิลปากร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดงานขึ้นในระหว่างวันที่ 4-6 เม.ย. 2556 เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยเฉพาะปราสาทหินพนมรุ้งให้เพิ่มมากขึ้น และเพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามด้วย
สำหรับกิจกรรมเด่นๆ ที่จะจัดให้มีขึ้นภายในงาน วันที่ 4 เม.ย.จะมีการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนพนมรุ้ง กิจกรรมย้อนยุค เลือกซื้อสินค้าหมู่บ้านโอท๊อป, จัดพราหมณ์ประจำพนมรุ้ง บริการประชาชน และนักท่องเที่ยวนำสวดอธิษฐานขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์คบนพนมรุ้ง
ชมริ้วขบวนหลวงของพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี(แสดงโดย น.ส.ปริศนา กัมพูศิริ หรือโบว์ลิ่ง นางสาวไทย ประจำปี 2555 และนางจริยา นำเครื่องบวงสรวงประกอบด้วย เทพพาหนะทั้ง 10 นางสนมกำนัล เหล่าทหาร ข้าทาสบริวาร ดำเนินผ่านเสานางเรียงประดับด้วยโคมไฟและธงทิวยิ่งใหญ่อลังการ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านรับประทานอาหารแบบโฮปบายดินเนอร์
“จะมีการแสดง แสง สี เสียง ชุด “มหาเทวาลัยพนมรุ้ง” อย่างยิ่งใหญ่ตระการตา จะเป็นการแสดงที่สร้างขึ้นจากเรื่องราวที่จารึกไว้ในศิลาจารึก ซึ่งจะเป็นเรื่องราวที่กล่าวถึงความเป็นมาของการสร้างโบราณสถานแห่งนี้ โดยมีผู้แสดงนับร้อยชีวิต เครื่องแต่งกายอันวิจิตรบรรจง แสง สี เสียงอันงดงามอลังการ ซึ่งคาดว่าจะสร้างความตื่นตาและประทับใจแก่ผู้ร่วมชมงานอย่างแน่นอน โดยนักท่องเที่ยวที่สนใจจะเข้าร่วมงานดังกล่าว สามารถติดต่อจองบัตรได้ที่ เสมียนตราจังหวัด โทร.0-4461-8654 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เสมียนตราอำเภอเฉลิมพระเกียรติ โทร.0-4462-8119 , 086-4686850  ชมการแสดง แสง สี เสียง บัตรราคา 500 บาท ร่วมรับประทานอาหารแบบโฮปบายดินเนอร์ โตกละ 1,500 บาท ต่อ 5 คน” ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ กล่าว
นอกจากนั้น ในวันที่ 3-5 เม.ย.56 จังหวัดบุรีรัมย์ ขอเชิญร่วมพิสูจน์ปรากฏการณ์มหัศจรรย์โดยมีแสงพระอาทิตย์ ส่องตรง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง ผ่านศิวลึงค์ ซึ่งอยู่กลางปราสาทองค์ประธาน ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นบนยอดเขาพนมรุ้ง เพียงปีละ 4 ครั้ง เท่านั้น นับว่าเป็นการรับพลังแสงอาทิตย์ เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองช่วงหน้าร้อนนี้ได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น หากไม่รู้หรือยังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวไม่ได้ ชาวบุรีรัมย์ขอเชิญชวนทุกท่านมาเที่ยวชม “งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง” ประจำปี 2556 ในวันและเวลาดังกล่าว เพื่อชมความอัศจรรย์ของพระอาทิตย์ที่สาดส่อง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง ชมอารยธรรมขอมโบราณ เพื่อสืบสานความเป็นไทยในวัฒนธรรมของชาติอันล้ำค่า ร่วมกันฟื้นฟูศาสนสถานพนมรุ้ง มุ่งสู่อารยธรรมโลก เพื่อคงไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป
(ขอบคุณข้อมูลจาก:แนวหน้า)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น